วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2553

กล้วยไม้สกุลสิงโตกลอกตา (Bulbophyllum spp.)


กล้วยไม้สกุลสิงโตกลอกตามีชื่อเรียกเป็นภาษาวิทยาศาสตร์ว่าสกุล "บัลโบฟิลลัม" (Bulbophyllum) ซึ่งมาจากคำภาษากรีซ 2 คำ มีความหมายว่า "หัว" (หมายถึงลำลูกกล้วย) กับ "ใบ" สำหรับในภาษาไทยที่เรียกกันว่า "สิงห์โตกลอกตา" นั้น เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิตได้ทรงเรียบเรียงไว้ในหนังสือ "ตำราเล่นกล้วยไม้" เมื่อปี พ.ศ. 2459 เกี่ยวกับรูปร่างลักษณะของกล้วยไม้สกุลเซอร์โรเพตาลัม (Cirrhopetalum) ซึ่งเป็นสกุลที่มีลักษณะใกล้เคียงกับสกุลบัลโบฟิลลัมมาก และในปัจจุบันนี้นักพฤกษศาสตร์ได้จัดรวมไว้ในสกุลบัลโบฟิลลัม ดังนี้ ลูกกล้วยรูปกลมมักเล็กขนากผลพุทรา บางชนิดเขื่องกว่านั้น แลบางชนิดใบยาวตั้งคืบก็ได้มีใบลูกกล้วยละ 1 ใบ สีเขียวแก่ด้าน ๆ ดอกลำพังตัวกลีบนอกสองข้างนั้นใหญ่ยาวเกินส่วน รวบปลายแหลมแลพับเบื้องโคนกลีบทบไปข้างหน้า ปลายกลีบซ้อนกันฤๅมาประสานติดกัน ทำนองห่มสะไบคล้องคอ ปากเล็กเกือบแลไม่เห็น แลรังเกสรกระดิกได้เป็นดอกไม้ไหว ซึ่งเป็นเหตุให้เรียกกันในนี้ว่า "สิงห์โตกลอกตา"


สิงห์โตเหลือง (Bulbophyllum vaginatum (Lindl.) Rcgb.f.)





ลำลูกกล้วยทรงรูปไข่ เป็นเหลี่ยม ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างลำต่อลำ 3-5 เซนติเมตร ลำลูกกล้วยมีใบเดียว ใบหนาแข็ง ยาวประมาณ 12 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตร ขอบใบทั้งสองข้างเกือบขนานกัน ปลายใบป้านแยกเป็น 2 แฉกเล็ก ๆ ก้านใบสั้นก้านช่อยาวประมาณ 10 เซนติเมตร มีกาบที่ก้านช่อหลายกาบ ในช่อดอกช่อหนึ่ง ๆ จะมีดอกประมาณ 15 ดอก เกิดเป็นกระจุก ดอกมีสีเหลืองอ่อน ๆ กลีบนอกบนยาวประมาณ 9 มิลลิเมตร กลีบนอกคู่ล่างยาว 4-7 เซนติเมตร ขอบของกลีบนอกคู่ล่างเชื่อมติดกันเป็นระยะสั้น ๆ ตอนใกล้ฐานของกลีบ ปล่อยให้ปลายกลีบยาวเรียวคล้ายหาง 2 หาง ขอบของกลีบดอกทุกกลีบบางตอนมีขนสั้น ๆ กลีบในยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร และปากยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร


กล้วยไม้ชนิดนี้พบทางภาคใต้ของไทย เช่น ที่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และนราธิวาส ดอกบานในช่วงเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์


สิงห์โตพัดแดง (Bulbophyllum lepidum (BI.) J.J. Sm.)




สิงโตพัดแดงพบตามธรรมชาติในทั่วทุกภาคของประเทศ เช่น ที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง สกลนคร ชัยภูมิ จันทบุรี สุราษฎร์ธานี ระนอง และกระบี่ลำลูกกล้วยของสิงห์โตพัดแดงเป็นรูปไข่ยาว 1.5 เซนติเมตร ลำลูกกล้วยห่างกันประมาณ 2-3 เซนติเมตร ใบยาว 16 เซนติเมตร กว้าง 3-6 เซนติเมตร ปลายใบป้าน ฐานใบเรียวก้านช่อยาวประมาณ 20 เซนติเมตร มีดอก 7-10 ดอก กลีบนอกบนยาวประมาณ 8 มิลลิเมตร งองุ้ม สีเหลือง ขอบของกลีบนอกบนมีขนสีม่วง กลีบนอกคู่ล่างยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร กว้างประมาณ 4 มิลลิเมตร ค่อย ๆ เรียวจากกลางกลีบไปหาปลายกลีบซึ่งมีลักษณะป้าน ขอบบนของกลีบนอกคู่ล่างเชื่อมติดกันตั้งแต่ปลายกลีบ่จนเกือบถึงฐานของกลีบ พื้นของกลีบสีครีมอาบด้วยสีม่วงปนชมพูตั้งแต่ปลายกลีบไปหาฐานของกลีบ กลีบในยาว 5-6 มิลลิเมตร ปลายกลีบแคบ ขอบเป็นขนสั้น ๆ ปากสีน้ำตาลอมเขียวทึบ ๆ เส้าเกสรสีเขียวอ่อนประด้วยจุดสีม่วง ฤดูดอกบานประมาณเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม


สิงห์โตก้ามปูแดง (Bulbophyllum patens King ex. Hook. f.)



สิงห์โตก้ามปูแดงเป็นกล้วยไม้ที่มีลักษณะแปลกอย่างหนึ่ง คือเมื่อดอกบาน ดอกมักจะกลับเอาหัวลง สิงห์โตก้ามปูแดงมีถิ่นกำเนิดอยู่ในป่าทางภาคใต้ของไทย เช่น ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ตรัง นราธิวาส ปัตตานี ฤดูดอกบาน ประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์เหง้าของสิงห์โตก้านปูแดงมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 มิลลิเมตร กาบที่เหง้าแลเห็นได้ชัด ลำลูกกล้วยยาว 0.6-2.5 เซนติเมตร ลำลูกกล้วยแต่ละลำห่างกันประมาณ 8 เซนติเมตร หรือต่ำกว่านั้น ลำลูกกล้วย 1 ลำมีใบ 1 ใบ ใบมีขนาดยาวประมาณ 14 เซนติเมตร กว้าง 4.5 เซนติเมตรเมื่อเวลาดอกบาน กลีบดอกจะบานผึ่งเต็มที่ พื้นดอกเป็นสีเหลืองจาง ๆ มีจุดเล็ก ๆ สีม่วงกระจายอย่างหนาแน่นทั่วทั้งดอก จึงดูคล้ายกับว่าดอกมีสีแดงคล้ำ กลีบนอกบนยาวประมาณ 2.2 เซนติเมตร กว้าง 0.6 เซนติเมตร กลีบนอกคู่ล่างกว้างกว่ากลีบนอกบน ปากสดใส ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร มีจุดเล็กละเอียดสีม่วงกระจาย ก้านดอกรวมทั้งรังไข่ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร



แหล่งที่มา

6 ความคิดเห็น: