วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2553

กล้วยไม้สกุลแคทลียา(Cattleya)



กล้วยไม้ในสกุลแคทลียาหรือที่เราเรียกกันทั่วๆ ไปว่า "แคทลียา" นั้นมีต้นกำเนิดมาจากทวีปอเมริกาใต้ แถบประเทศบราซิล อาร์เจนตินา เม็กซิโก เปรู(ในประเทศไทยไม่พบกล้วยไม้พันธุ์แท้ของสกุลนี้) แต่ในปัจจุบันได้มีการนำมาพัฒนาสายพันธุ์ทำให้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากและแพร่หลายเข้ามาสู่ทวีปเอเชีย เช่น ไทย ญี่ปุ่น ไต้หวัน เป็นต้น สามารถปลูกเลี้ยงได้ทั่วไปในทุกๆ ภาค ดอกมีหลายขนาดทั้งดอกใหญ่ ดอกกลาง และดอกเล็ก





แคทลียาเป็นกล้วยไม้ที่ชอบขึ้นอยู่ในที่ชุ่มชื้น ร่มเย็น มีแสงแดดบ้างเล็กน้อยหรือที่เรียกว่าแสงแดดรำไร แต่ไม่ทนต่อความแห้งแล้ง ร้อนและแสงแดดจัด แคทลียาเป็นกล้วยไม้ประเภทแตกกอ มีระบบรากเป็นแบบรากกึ่งอากาศ บางชนิดลำลูกกล้วยอ้วนป้อม หัวท้ายเรียว บางชนิดเป็นรูปทรงกระบอกหรืบิดเป็นเกลียวเล็กน้อย ใบส่วนมากจะมีลักษณะแบน แต่มีบางชนิดใบกลมรูปทรงกระกอก ใบที่เจริญเต็มที่จะมีลักษณะหนาและแข็ง ใบอาจมีหรือไม่มีกาบ เหง้าอาจจะมีทั้งสั้นและยาว รากของแคทลียาไม่มีรากแขนง ดอกเกิดที่ปลายลำลูกกล้วย ก่อนจะออกดอกมักจะปรากฎซองของดอกก่อน แต่แคทลียาบางชนิดไม่มีซองดอก




ดอกแคทลียามีทั้งที่เป็นดอกเดี่ยวและออกดอกเป็นช่อ ในช่อหนึ่ง ๆ อาจจะมีดอกเพียงดอกเดียวหรือสองดอก สามดอกหรือบางชนิดอาจจะมีถึงสิบดอกก็ได้ กลีบดอกชั้นนอกมี 3 กลีบ อยู่ข้างบน 1 กลีบ ข้างล่าง 2 กลีบ ขนาดเท่า ๆ กัน กลีบดอกชั้นนอก มี 3 กลีบ กลีบใน 2 กลีบ กลีบบนมีรูปร่างเหมือนกัน




ภาพสวยๆของกล้วยไม้สกุลแคทลียา(Cattleya)




ขอขอบคุณแหล่งที่มาที่ให้ข้อมูลและผู้ติดตามทุกท่าน

http://www.student.chula.ac.th/~49370300/cattleya.htm

กล้วยไม้สกุลม้าวิ่ง (Doritis pulcherrima)



กล้วยไม้สกุลม้าวิ่งเป็นกล้วยไม้ที่ขึ้นอยู่ตามพื้นดิน ซอกหินหรือแอ่งหิน ที่มีอินทรีย์วัตถุทับถมตามป่าโปร่งทั่วๆ ไป ลักษณะต้นจะสั้นๆ ใบแบนกว้างและค่อนข้างหนา ใบมีสีเขียวหรือสีเขียวอมม่วง ช่อดอกตั้ง ช่อดอกยาวแข็งและตรง ดอกมีสีแดงอ่อนๆ ไปจนถึงสีแดงอมม่วง ลักษณะเด่นของม้าวิ่งคือ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกคู่ล่างจะกางและลู่ไปทางด้านหลัง ทำให้เห็นเส้าเกสรเด่นชัด ดอกจะทยอยบานขึ้นไปเรื่อยๆ ถึงปลายช่อดอก โดยดอกที่อยู่ด้านล่างก็จะค่อยๆ โรยไป
กล้วยไม้สกุลม้าวิ่งกระจายพันธุ์อยู่ในพม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย พบในธรรมชาติมีเพียงชนิดเดียวคือ

โดไรติส พูลเคอไรมา (Doritis pulcherrima) หรือเรียกว่าม้าวิ่ง และมีอีกชนิดหนึ่งซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อย หรือวาไรตี้ (variety - var.) มีดอกใหญ่กว่าธรรมดา พบทางภาคเหนือและภาคอีสานของไทย คือ แดงอุบล แยกเป็นพันธุ์ บีสโซเนียนา (Doritis pulcherrima var. buyssoniana) ซึ่งแดงอุบลนี้ จากการตรวจนับโครโมโซมของศาสตราจารย์ ระพี และคณะ พบว่ามีโครโมโซมเป็น 2 เท่าของม้าวิ่งทั่วๆ ไป






กล้วยไม้ในสกุลม้าวิ่งส่วนใหญ่นิยมนำไปผสมกับสกุลฟาแเลนนอปซิส ได้สกุลใหม่ว่า โดไรเตนอปซิส (Doritaenopsis)

นอกจากนี้ยังมีการนำไปผสมกับสกุลอื่นอีก เช่น ผสมกับสกุลเข็มได้เป็นสกุล Doricentrum ผสมกับแวนด้าได้ Vandoritis หรือผสมกับช้าง ได้เป็นสกุล Doristylis เป็นต้น





การปลูกเลี้ยงม้าวิ่ง ควรปลูกใส่กระถางดินเผา ใช้เครื่องปลูกเช่นเดียวกับรองเท้านารี คือ อิฐ เศษหิน หรือใช้ถ่านรองก้น

กระถาง โรยทับด้วยปุ๋ยหมักผสมทราย หรือปุ๋ยหมักอย่างเดียวก็ได้ เพื่อปรับสภาพการปลูกให้เหมือนกับในธรรมชาติ ส่วนวิธีปลูกจะต้องให้โคนต้นอยู่สูงกว่าผิวบนของเครื่องปลูก อย่าให้โคนต้นจมอยู่ในเครื่องปลูก โดยวางให้เห็นโคนรากโผล่พ้นเครื่องปลูกประมาณ 1 นิ้ว จะทำให้กล้วยไม้งอกงามกว่าปลูกชิดกับเครื่องปลูก



ที่มา

กล้วยไม้สกุลสิงโตกลอกตา (Bulbophyllum spp.)


กล้วยไม้สกุลสิงโตกลอกตามีชื่อเรียกเป็นภาษาวิทยาศาสตร์ว่าสกุล "บัลโบฟิลลัม" (Bulbophyllum) ซึ่งมาจากคำภาษากรีซ 2 คำ มีความหมายว่า "หัว" (หมายถึงลำลูกกล้วย) กับ "ใบ" สำหรับในภาษาไทยที่เรียกกันว่า "สิงห์โตกลอกตา" นั้น เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิตได้ทรงเรียบเรียงไว้ในหนังสือ "ตำราเล่นกล้วยไม้" เมื่อปี พ.ศ. 2459 เกี่ยวกับรูปร่างลักษณะของกล้วยไม้สกุลเซอร์โรเพตาลัม (Cirrhopetalum) ซึ่งเป็นสกุลที่มีลักษณะใกล้เคียงกับสกุลบัลโบฟิลลัมมาก และในปัจจุบันนี้นักพฤกษศาสตร์ได้จัดรวมไว้ในสกุลบัลโบฟิลลัม ดังนี้ ลูกกล้วยรูปกลมมักเล็กขนากผลพุทรา บางชนิดเขื่องกว่านั้น แลบางชนิดใบยาวตั้งคืบก็ได้มีใบลูกกล้วยละ 1 ใบ สีเขียวแก่ด้าน ๆ ดอกลำพังตัวกลีบนอกสองข้างนั้นใหญ่ยาวเกินส่วน รวบปลายแหลมแลพับเบื้องโคนกลีบทบไปข้างหน้า ปลายกลีบซ้อนกันฤๅมาประสานติดกัน ทำนองห่มสะไบคล้องคอ ปากเล็กเกือบแลไม่เห็น แลรังเกสรกระดิกได้เป็นดอกไม้ไหว ซึ่งเป็นเหตุให้เรียกกันในนี้ว่า "สิงห์โตกลอกตา"


สิงห์โตเหลือง (Bulbophyllum vaginatum (Lindl.) Rcgb.f.)





ลำลูกกล้วยทรงรูปไข่ เป็นเหลี่ยม ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างลำต่อลำ 3-5 เซนติเมตร ลำลูกกล้วยมีใบเดียว ใบหนาแข็ง ยาวประมาณ 12 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตร ขอบใบทั้งสองข้างเกือบขนานกัน ปลายใบป้านแยกเป็น 2 แฉกเล็ก ๆ ก้านใบสั้นก้านช่อยาวประมาณ 10 เซนติเมตร มีกาบที่ก้านช่อหลายกาบ ในช่อดอกช่อหนึ่ง ๆ จะมีดอกประมาณ 15 ดอก เกิดเป็นกระจุก ดอกมีสีเหลืองอ่อน ๆ กลีบนอกบนยาวประมาณ 9 มิลลิเมตร กลีบนอกคู่ล่างยาว 4-7 เซนติเมตร ขอบของกลีบนอกคู่ล่างเชื่อมติดกันเป็นระยะสั้น ๆ ตอนใกล้ฐานของกลีบ ปล่อยให้ปลายกลีบยาวเรียวคล้ายหาง 2 หาง ขอบของกลีบดอกทุกกลีบบางตอนมีขนสั้น ๆ กลีบในยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร และปากยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร


กล้วยไม้ชนิดนี้พบทางภาคใต้ของไทย เช่น ที่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และนราธิวาส ดอกบานในช่วงเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์


สิงห์โตพัดแดง (Bulbophyllum lepidum (BI.) J.J. Sm.)




สิงโตพัดแดงพบตามธรรมชาติในทั่วทุกภาคของประเทศ เช่น ที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง สกลนคร ชัยภูมิ จันทบุรี สุราษฎร์ธานี ระนอง และกระบี่ลำลูกกล้วยของสิงห์โตพัดแดงเป็นรูปไข่ยาว 1.5 เซนติเมตร ลำลูกกล้วยห่างกันประมาณ 2-3 เซนติเมตร ใบยาว 16 เซนติเมตร กว้าง 3-6 เซนติเมตร ปลายใบป้าน ฐานใบเรียวก้านช่อยาวประมาณ 20 เซนติเมตร มีดอก 7-10 ดอก กลีบนอกบนยาวประมาณ 8 มิลลิเมตร งองุ้ม สีเหลือง ขอบของกลีบนอกบนมีขนสีม่วง กลีบนอกคู่ล่างยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร กว้างประมาณ 4 มิลลิเมตร ค่อย ๆ เรียวจากกลางกลีบไปหาปลายกลีบซึ่งมีลักษณะป้าน ขอบบนของกลีบนอกคู่ล่างเชื่อมติดกันตั้งแต่ปลายกลีบ่จนเกือบถึงฐานของกลีบ พื้นของกลีบสีครีมอาบด้วยสีม่วงปนชมพูตั้งแต่ปลายกลีบไปหาฐานของกลีบ กลีบในยาว 5-6 มิลลิเมตร ปลายกลีบแคบ ขอบเป็นขนสั้น ๆ ปากสีน้ำตาลอมเขียวทึบ ๆ เส้าเกสรสีเขียวอ่อนประด้วยจุดสีม่วง ฤดูดอกบานประมาณเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม


สิงห์โตก้ามปูแดง (Bulbophyllum patens King ex. Hook. f.)



สิงห์โตก้ามปูแดงเป็นกล้วยไม้ที่มีลักษณะแปลกอย่างหนึ่ง คือเมื่อดอกบาน ดอกมักจะกลับเอาหัวลง สิงห์โตก้ามปูแดงมีถิ่นกำเนิดอยู่ในป่าทางภาคใต้ของไทย เช่น ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ตรัง นราธิวาส ปัตตานี ฤดูดอกบาน ประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์เหง้าของสิงห์โตก้านปูแดงมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 มิลลิเมตร กาบที่เหง้าแลเห็นได้ชัด ลำลูกกล้วยยาว 0.6-2.5 เซนติเมตร ลำลูกกล้วยแต่ละลำห่างกันประมาณ 8 เซนติเมตร หรือต่ำกว่านั้น ลำลูกกล้วย 1 ลำมีใบ 1 ใบ ใบมีขนาดยาวประมาณ 14 เซนติเมตร กว้าง 4.5 เซนติเมตรเมื่อเวลาดอกบาน กลีบดอกจะบานผึ่งเต็มที่ พื้นดอกเป็นสีเหลืองจาง ๆ มีจุดเล็ก ๆ สีม่วงกระจายอย่างหนาแน่นทั่วทั้งดอก จึงดูคล้ายกับว่าดอกมีสีแดงคล้ำ กลีบนอกบนยาวประมาณ 2.2 เซนติเมตร กว้าง 0.6 เซนติเมตร กลีบนอกคู่ล่างกว้างกว่ากลีบนอกบน ปากสดใส ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร มีจุดเล็กละเอียดสีม่วงกระจาย ก้านดอกรวมทั้งรังไข่ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร



แหล่งที่มา

กล้วยไม้สกุลเสือโคร่ง (Trichoglottis spp.)


กล้วยไม้สกุลนี้จัดอยู่ในประเภทไม่แตกกอ มีทรงต้นโปร่ง มีรูปทรงของต้น และใบคล้ายคลึงกับกล้วยไม้สกุลแมลงปอ และเรแนนเธอร่า คือมีลำต้นยาวห้อยอยู่กับกิ่งไม้ หรืออาจเกาะขึ้นอยู่ตามต้นไม้ ข้อห่าง ปล้องยาว ใบแคบยาวเรียวแหลม หรือริมใบขนานกันแล้วแต่ชนิด ช่อดอกสั้น บางชนิดมีดอกเดียว บางชนิดมีหลายดอกออกเบียดชิดกัน และเรียงแถวตามความยาวของช่อ ขนาดของดอกมีทั้งเป็นพวกดอกเล็ก ๆ และดอกใหญ่พอสมควร พื้นกลีบดอกมีสีเหลืองอมเขียว มีจุดหรือลายสีน้ำตาลเมื่อดอกบานกลีบดอกจะเปิดเต็มที่ กลีบดอกมีลักษณะหนา และแข็งแรง โคนกลีบนอกบนคู่ล่างเชื่อมติดกับฐานของเส้าเกสร เส้าเกสรสั้นบางทีเชื่อมต่อไปถึงเดือยดอกด้วย โคนปากมีถุง หรือเดือย แผ่นปากหนา และมีขนเป็นหย่อม หูปากเหยียดตรง ส่วนโคนของปลายแผ่นปากแยกออกเป็นแฉกข้างละแฉก และมีขน แผ่นปากอาจแยกเป็น 3 แฉก หรือติดกันเป็นแผ่นเดียว ส่วนที่คล้ายลิ้นมีลักษณะบาง มีขนสั้น ๆ อยู่ในถุงใต้เส้าเกสร สองข้างปลายเส้าเกสรมีเขี้ยวแหลมข้างละเขี้ยว เกสรตัวผู้มี 2 คู่ ลักษณะประจำสกุลที่เด่นคือ มีลิ้นอยู่ที่ถุงกระเป๋า มีเขี้ยวอยู่ที่ปลายเส้าเกสรทั้ง 2 ข้าง เป็นกล้วยไม้ที่ชอบแสงแดดมาก






กล้วยไม้ในสกุลเสือโคร่งนี้มีหลายชนิด แต่ชนิดที่คนไทยรู้จักกันอย่างกว้างขวางคือ เสือโคร่ง ( Trichoglottis fasciata ) บางคนอาจใช้ชื่อกล้วยไม้ชนิดนี้เป็นตัวแทนเรียกชื่อสกุลเสือโคร่ง เสือโคร่งพบกระจายอยู่ในธรรมชาติตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ ภาคเหนือมักพบกาะอยู่ตามต้นไม้ที่มีทรงต้นสูง จึงพบขึ้นตามลำต้นของต้นไม้ซึ่งเริ่มจากช่วงกลาง ๆ ต้นขึ้นไป ส่วนที่พบขึ้นอยู่ในภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรีลงไปหลายแห่งขึ้นอยู่ตามพุ่มไม้ในป่าละเมาะ โดยโผล่ยอดขึ้นมารับแสงแดดอย่างเต็มที่ นิสัยของกล้วยไม้เสือโคร่งที่สังเกตเห็นได้ชัดคือ หากขึ้นอยู่กลางแดดต้นจะมีสภาพแข็งแรงมาก และให้ดอกดก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นกล้วยไม้ที่ให้ดอกในฤดูแล้งระหว่างเดือนมีนาคม - เมษายน โดยปกติกล้วยไม้สกุลเสือโคร่งพื้นกลีบดอกจะมีสีเหลืองอมเขียว มีจุดหรือลายสีน้ำตาล แต่เสือโคร่งกลีบดอกจะมีลายตามขวางด้วย เหมือนลายเสือโคร่ง





แหล่งข้อมูล

กล้วยไม้สกุลช้าง ( Rhynchostylis spp. )


กล้วยไม้สกุลช้างมีการเจริญเติบโตแบบฐานเดี่ยว มีลักษณะแตกต่างไปจากกล้วยไม้สกุลอื่นๆ คือ มีลำต้นสั้น แข็งแรง ใบแข็ง หนาค่อนข้างยาว อวบน้ำ เรียงชิดกันอยู่บนลำต้น ใบเป็นร่อง หน้าตัดของใบรูปตัววี สันล่างของใบเห็นได้ชัด ใบอาจมีเส้นใบเป็นเส้นขนานสีจางๆ หลายๆ เส้นตามความยาวของใบ ปลายใบหยักมนหรือเป็นฟันแหลมไม่เท่ากัน รากเป็นระบบรากอากาศ มีขนาดใหญ่ แขนงรากใหญ่ ปลายรากมีสีเขียวซึ่งสามารถปรุงอาหารด้วยวิธีสังเคราะห์ด้วยแสงได้ ช่อดอกอาจห้อยลงหรือตั้งขึ้น ความยาวของช่อดอกเกือบเท่าๆ กับความยาวของใบ ดอกมีเป็นจำนวนมากแน่นช่อดอก กลีบนอกและกลีบในของดอกแผ่ออก อาจมีจุดหรือไม่มีจุดสีม่วงหรือสีน้ำเงินก็ได้ ขนาดของกลีบนอกโตกว่ากลีบใน เส้าเกสรสั้น ปากไม่มีข้อพับ ปลายปากไม่หยัก หรือหยักเป็นลอนเล็กๆ 3 ลอน ปลายปากชี้ตรงไปข้างหน้า ปากเชื่อมต่อกับฐานสั้นๆ ของเส้าเกสร จึงดูเหมือนว่าไม่มีฐานของเส้าเกสร เดือยของดอกแบน ชี้ตรงไปข้างหลัง มีอับเรณู 2 ก้อน แยกออกจากกัน ออกดอกปีละครั้ง บ้างต้นอาจมีดอกครั้งละหลายๆ ช่อ



ช้าง(Rhynchostylis gigantea)





กล้วยไม้ช้างมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย พม่า ทางตอนใต้ของจีน ประเทศในแถบอินโดจีน อินโดนีเซีย และหมู่เกาะทะเลจีนใต้ สำหรับในประเทศไทยพบกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติในแถบภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น หนองคา มุกดาหาร สกลนคร เลย นครราชสีมา ต่ำลงมาจนถึงตอนเหนือของภาคกลาง เช่น นครสวรรค์ ชัยนาท และภาคตะวันออก เช่น ปราจีนบุรี และแถบจังหวัดกาญจนบุรี พบขึ้นกระจายทั่วไปในป่าที่มีระดับความสูงประมาณ 260-350 เมตรจากระดับน้ำทะเล

กล้วยไม้ช้างมีรูปร่างใหญ่โตกว่ากล้วยไม้ชนิดอื่นๆ ในสกุลเดียวกัน ใบหนา แข็ง ยาวประมาณ 25-30 เซนติเมตร กว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตร ปลายใบเป็นแฉก 2 แฉก มน และสองแฉกของใบไม่เท่ากัน รากเป็นรากอากาศ มีขนาดใหญ่ ปลายรากมีสีเขียว ช่อดอกเป็นรูปทรงกระบอกโค้งลง ช่อดอกยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร มีดอกแน่นช่อ ช่อละ 25-60 ดอก ขนาดดอกประมาณ 2.5-3.0 เซนติเมตร กลีบนอกคู่ล่างกว้างยาวพอๆ กันกับกลีบนอกบน ส่วนกลีบในเรียวกว่ากลีบนอก เดือยดอกอยู่ในลักษณะเหยียดตรงไปข้างหน้า ปลายแผ่นปากหนาแข็งและปลายสองข้างเบนเข้าหากัน ปลายปากมี 3 แฉก สองแฉกข้างมน แฉกกลางมนและมีขนาดเล็กกว่ามากใกล้โคนปากด้านบนมีสันนูนเตี้ยๆ 2 สัน ดอกมีกลิ่นหอมฉุน หอมไกลดอกบานในระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ และบานทนได้ประมาณสองหรือสามสัปดาห์ ช้างแบ่งออกเป็น 3 ประเภทตามลักษณะสีของดอก คือ ช้างกระ ช้างแดง และช้างเผือกทั้งสามประเภทเป็นพันธุ์แท้พันธุ์เดียวกัน มีลักษณะลำต้น ใบ ราก ช่อดอก และดอกคล้ายคลึงกัน แต่ต่างกันตรงที่สีของดอก คือช้างกระมีดอกสีขาวประด้วยจุดสีม่วงแดง ช้างแดงดอกมีสีม่วงแดงทั้งดอกหรือเกือบทั้งดอก และช้างเผือกมีดอกสีขาวล้วน นอกจากนี้ยังมี ช้างประหลาด ซึ่งเกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างช้างแดงกับช้างกระ สีของดอกมีจุดสีม่วงแดงใหญ่กว่าช้างกระ บางต้นจุดสีมีขนาดใหญ่จนเกือบเต็มกลีบดอก คล้ายกับสีของดอกช้างแดง แต่ยังมีสีขาวของพื้นกลีบดอกเหลืออยู่

กล้วยไม้ช้างเป็นที่นิยมเลี้ยงกันมากเนื่องจากเลี้ยงได้ง่าย ออกดอกทุกปี การที่กล้วยไม้ชนิดนี้ได้ชื่อว่า “ช้าง” อาจมาจากสองกรณีคือ ลักษณะที่มีลำต้น ใบ ราก ช่อดอก และดอกใหญ่กว่ากล้วยไม้ชนิดอื่น อีกกรณีหนึ่งอาจเป็นเพราะดอกตูมของกล้วยไม้ชนิดนี้มีรูปร่างคล้ายหัวช้างและมีเดือยดอกคล้ายกับงวงช้าง



ไอยเรศหรือพวงมาลัย(Rhynchostylis retusa)



ไอยเรศเป็นกล้วยไม้ป่าพันธุ์แท้ที่มีถิ่นกำเนิดกระจายไปทั่วประเทศไทยและในประเทศศรีลังกา เนปาล ภูฎาน พม่า จีน ประเทศแถบอินโดจีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และหมู่เกาะบอร์เนียว ในประเทศไทยพบในป่าที่มีระดับความสูงตั้งแต่ประมาณ 150-1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล


ไอยเรศมีลำต้นใหญ่แข็งแรงคล้ายกล้วยไม้ช้าง แต่ใบยาวกว่าและแคบกว่า ใบยาวประมาณ 40 เซนติเมตร กว้างประมาณ 4 เซนติเมตร มีทางสีเขียวแก่สลับกับสีเขียวอ่อนตามความยาวของใบคล้ายกล้วยไม้ช้าง ปลายใบมีลักษณะเป็นฟันแหลมไม่เท่ากัน ช่อดอกเป็นรูปทรงกระบอก โค้งห้อยลง ยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร ก้านช่อยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร มีดอกแน่นช่อ ในหนึ่งช่อมีดอกประมาณ 150 ดอก มากกว่ากล้วยไม้ช้าง รูปร่างลักษณะของช่อดอกที่ยาวเป็นรูปทรงกระบอกคล้ายกับลักษณะของพวงมาลัย จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “พวงมาลัย” ต้นใหญ่ๆ มักจะแตกหน่อที่โคนต้น เกิดเป็นกอใหญ่ขึ้นได้ ดอกขนาดมีขนาดประมาณ 1.2-1.5 เซนติเมตร สีพื้นของกลีบนอกและกลีบในของดอกเป็นสีขาว มีจุดสีม่วงประปราย เดือยดอกมีสีม่วงอ่อน แผ่นปากมีลักษณะโค้งขึ้นบนแล้วยื่นไปข้างหน้า มีแต้มสีม่วงตรงกลางแผ่นปากส่วนโคนและปลายสุดแผ่นปากเป็นสีขาว ปลายแผ่นปากเว้า เส้าเกสรเห็นชัด ออกดอกประมาณเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ดอกจะบานอยู่ได้ประมาณ 2 สัปดาห์ ไอยเรศที่มีดอกสีขาว ไม่มีสีม่วงปะปนอยู่เลย เรียก "ไอยเรศเผือก" ซึ่งหาได้ยาก


ไอยเรศปลูกเลี้ยงได้ง่าย ให้ดอกทุกปี และชอบแสงแดดมากกว่ากล้วยไม้ช้าง การปลูกอาจเกาะไว้กับกิ่งไม้หรือท่อนไม้ ไว้ในบริเวณที่ได้รับแสงแดด หรือจะปลูกลงกระเช้าไม้ แขวนไว้ในบริเวณที่ได้รับแสงแดดเพียงพอ ควรให้ได้รับแสงแดดมากกว่ากล้วยไม้ช้างเล็กน้อย และควรปลูกในเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม เนื่องจากช่วงต้นฤดูฝนจะทำให้ต้นและรากเติบโตดี


เขาแกะ(Rhynchostylis coelestis)





เขาแกะมีถิ่นกำเนิดกระจายอยู่ทุกภาคของประเทศไทย มักพบขึ้นในป่าโปร่งผลัดใบ ทั้งในภูมิภาคที่เป็นภูเขาและที่ราบ เป็นกล้วยไม้ชนิดเดียวในสกุลช้างที่มีลักษณะช่อดอกตั้งขึ้น ใบมีลักษณะแบนคล้ายแวนด้า ยาวประมาณ 15 เซนติเมตร และบางกว่ากล้วยไม้ชนิดอื่นในสกุลเดียวกัน โคนใบซ้อนกันเป็นแผง ใบโค้งสลับกันในทางตรงกันข้าม ด้วยลักษณะนี้เองจึงได้ชื่อว่า “เขาแกะ” ช่อดอกเป็นรูปทรงกระบอก มีดอกแน่นช่อ ดอกมีขนาดประมาณ 2 เซนติเมตร กลีบดอกทั้งกลีบนอกและกลีบในมีพื้นสีขาว มีแต้มสีม่วงครามที่ปลายกลีบทุกกลีบ ฐานของแผ่นปากและครึ่งหนึ่งของแผ่นปากที่ต่อกับฐานมีสีขาว ส่วนอีกครึ่งหนึ่งของแผ่นปากเป็นสีม่วงครามเช่นเดียวกับที่ปลายกลีบแต่สีเข้มกว่า ปากของเขาแกะคล้ายกับปากของไอยเรศ สีม่วงครามของเขาแกะบางต้นอาจมีสีต่างออกไป เช่น มีสีม่วงมากจนเกือบแดง เรียกว่า “เขาแกะแดง” บางต้นมีสีไปทางสีฟ้าหรือสีน้ำเงิน บางต้นดอกมีสีขาวบริสุทธิ์ เรียกว่า “เขาแกะเผือก” ซึ่งค่อนข้างหาได้ยาก เดือยดอกยาวกว่าและแคบกว่าของไอยเรศ ปลายของเดือยดอกโค้งลง ดอกบานทนประมาณสองสัปดาห์ ฤดูออกดอกประมาณเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม


เขาแกะเป็นกล้วยไม้ที่ปลูกเลี้ยงง่าย ทนแล้งได้ดี ชอบแสงแดดและอากาศถ่ายเทมากกว่าไอยเรศและช้าง อาจปลูกติดไว้กับต้นไม้ ท่อนไม้ หรือปลูกลงกระเช้าไม้ เนื่องจากปลูกเลี้ยงได้ง่าย ช่อดอกตั้ง สีของดอกเป็นสีม่วงครามหรือใกล้ไปทางสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสีที่หาได้ยากในกล้วยไม้ทั่วๆ ไป จึงนิยมนำเขาแกะไปผสมข้ามสกุลกับกล้วยไม้ชนิดอื่นอีกหลายชนิดโดยเฉพาะกล้วยไม้ในสกุลใกล้เคียงกับกล้วยไม้สกุลแวนดา เพื่อพัฒนาเป็นกล้วยไม้ตัดดอกหรือเป็นกล้วยไม้ประเภทสวยงาม






แหล่งข้อมูล